สุนทรพจน์ของเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เนื่องในงานวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรป 10 ตุลาคม 2563
สุนทรพจน์ของ ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา
เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
เนื่องในงานวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรป
10 ตุลาคม 2563
ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ
ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
ผมขอเริ่มต้นด้วยการแสดงความขอบคุณต่อสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ และ Documentary Club ที่มาร่วมแรงร่วมใจกับเราในครั้งนี้ ถ้าไม่มีพันธมิตรทั้งสองแล้ว งานนี้คงจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้อย่างแน่นอน
เป็นที่น่าเสียดายว่าคุณธิดา ผู้ก่อตั้ง Documentary Club ไม่สามารถมาร่วมงานกับเราในวันนี้ได้ แต่เรารู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งที่เธอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนต่างก็ทุ่มเทกำลังอย่างเต็มที่ในการเตรียมงานครั้งนี้
นอกจากนั้นแล้ว ผมต้องขอขอบคุณเพื่อนๆ นักการทูตทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นจากสถานทูตของสมาชิกสหภาพยุโรปหรือประเทศพันธมิตรต่างๆ โดยเฉพาะจากท่านทูตเม็กซิโกและแคนาดา รวมทั้งผู้แทนจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ ที่สละเวลามาร่วมงานในวันนี้ บางท่านอาจจะทราบแล้วว่า เม็กซิโกและสวิตเซอร์แลนด์คือสองประเทศที่รับบทบาทหลักในการจัดเตรียมร่างสำหรับข้อมติที่เกี่ยวข้องกับการพักการใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งจะนำเข้าเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
ขอบคุณคุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และเพื่อนๆ สื่อมวลชนทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมงาน
วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี คือวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรป ผมรู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านในที่นี้ตระหนักถึงความสำคัญของวันนี้มากพอที่จะมาใช้เวลาอันมีค่าของท่านในวันหยุดสุดสัปดาห์ร่วมกับเรา
ในวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรปของทุกปี สหภาพยุโรปจะจัดงานรณรงค์ในทั่วทุกภาคพื้นของโลก เพื่อส่งเสริมให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องยุติโทษประหาร และนี่ก็คือจุดประสงค์ของการจัดงานที่กรุงเทพฯ ในวันนี้เช่นเดียวกัน
เราหวังว่า การนำข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่ในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเป็นประเด็นหนึ่งของการสนทนานั้น จะช่วยให้ผู้สนับสนุนโทษประหารได้รับมุมมองอีกด้าน ซึ่งอาจทำให้พวกเขาประเมินท่าทีของตนเองเสียใหม่
แต่สำหรับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทุกประเทศนั้น ท่าทีของเรายังแน่วแน่ไม่เคยเปลี่ยน การประหารชีวิตคือการลงโทษที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราคัดค้านการใช้โทษประหารชีวิตในทุกกรณี
สหภาพยุโรปนั้นก่อตั้งขึ้นบนรากฐานของคุณค่าหลายประการซึ่งเราต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นที่จะต้องรักษาและเชิดชูไว้มิให้เสื่อมสลาย คุณค่าหนึ่งซึ่งเราให้ความสำคัญมากก็คือคุณค่าของการเป็นมนุษย์และสิทธิในการมีชีวิต การประหารชีวิตจึงขัดแย้งกับคุณค่าที่เรายึดถือ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ยอมให้มีสิ่งนี้ในภูมิภาคของเรา
แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่นำคุณค่าและอัตลักษณ์ของเราเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการถกเถียง มันก็ยังมีเหตุผลและตรรกะอีกนานัปการที่นำมาใช้คัดค้านการลงโทษประหารชีวิตได้ ไม่ใช่อารมณ์หรือความรู้สึก
ประการแรก ไม่มีหลักฐานใดใดทั้งสิ้นที่พิสูจน์ว่าการลงโทษประหารชีวิตนั้นช่วยลดอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ท่านสามารถย้อนไปดูสถิติอาชญากรรมของเราเป็นตัวอย่างได้ ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศนั้น สถิติที่เกี่ยวกับการฆ่าคนตายโดยเจตนาลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ประหารชีวิตใครมานานหลายทศวรรษแล้วก็ตาม
ในปี 2561 ผลการวิเคราะห์สถิติฆาตกรรมในประเทศนอกสหภาพยุโรป 11 ประเทศ ซึ่งได้ยุติโทษประหารไปแล้วเมื่อ 10 ปีก่อนหน้า ก็ยังชี้ให้เห็นว่าการยุติโทษประหารนั้นไม่ได้ทำให้อาชญากรรมพุ่งสูงขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้าม การฆาตกรรมใน 10 ของ 11 ประเทศที่อยู่ภายใต้การศึกษานี้ได้ลดลงหลังจากที่ประเทศเหล่านั้นได้ยกเลิกโทษประหารแล้ว
ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า การใช้ความรุนแรงนั้นเป็นสิ่งซึ่งช่วยบ่มเพาะความรุนแรงให้เจริญงอกงาม โทษประหารชีวิตก็คือความรุนแรงประเภทหนึ่ง ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เครื่องมือที่ดีในอันที่จะทำให้สังคมของเราสงบสุขปลอดอาชญากรรมได้
นายโรแบร์ต บาแดงแตร์ อดีตรัฐมนตรียุติธรรมของฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่รณรงค์อย่างแข็งขันให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตได้เคยกล่าวไว้ว่า การประหารชีวิตไม่สามารถดับแรงบันดาลใจให้มนุษย์คนหนึ่งก่ออาชญากรรมได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีอื่นเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น และบาแดงแตร์เองก็มีประสบการณ์จริงในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งกว่าใคร เพราะในสมัยที่เขามีอาชีพเป็นทนายนั้น เขาต้องทนดูลูกความคนหนึ่งของเขาถูกประหารชีวิต เขาจึงตระหนักดีถึงความโหดร้ายของโทษประหารและลุกขึ้นมาคัดค้านมันอย่างสุดขั้ว
และภาพยนตร์สารคดีที่เรากำลังจะได้ชมต่อไปนี้ก็เป็นเครื่องสนับสนุนเหตุผลประการที่สองของเราได้เป็นอย่างดี เหตุผลนั้นก็คือ หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมอันนำไปสู่การประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์แล้ว มันจะเป็นโศกนาฎกรรมที่เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้
ถ้าหากประสบการณ์การทำงานในฐานะนักการทูตของผมในหลายสิบปีที่ผ่านมามันจะสอนอะไรบ้าง อย่างหนึ่งที่มันสอนแน่ๆ ก็คือสอนให้ผมตระหนักว่า ไม่มีกระบวนการยุติธรรมที่ไหนจะสมบูรณ์แบบปราศจากข้อผิดพลาด แม้แต่ในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปเองก็ตาม ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ คุณก็จะได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการพิพากษาให้ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกจำคุก หรือข่าวเกี่ยวกับคนรวยที่ใช้เส้นสาย ใช้อามิสสินจ้าง ทำให้ไม่ต้องรับผิดในการกระทำของเขาอยู่บ่อยๆ
บางครั้งก็มีการรื้อฟื้นคดีเนื่องจากมีหลักฐานใหม่ ทำให้คนที่ถูกพิพากษาจำคุกแล้วกลายเป็นผู้ปราศจากมลทิน นั่นเป็นเพราะว่ากระบวนการยุติธรรมของเรานั้นมันเป็นกระบวนการที่มีมนุษย์เป็นผู้ควบคุม แต่การกระทำหรือตัดสินใจผิดพลาดนั้นมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ การเปิดโอกาสให้เรายังสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นได้ไม่ว่าจะใหญ่หลวงแค่ไหนจึงเป็นเรื่องสำคัญ
นี่เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งสารคดีเรื่อง “ฮากามาดะ” ได้พูดถึง ในการบอกเล่าเรื่องราวของผู้ชายซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ถูกจองจำในแดนประหารเป็นเวลานานที่สุดของโลก
หลังจากภาพยนตร์จบลงแล้ว เราจะได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนในแง่มุมต่างๆ ของโทษประหารด้วยกัน
ภรรยาของผมซึ่งเป็นนักจิตวิทยาได้เตือนผมเมื่อเช้านี้ว่า นอกจากวันนี้จะเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากลแล้วก็ยังเป็นวันสุขภาพจิตโลกอีกด้วย ในสารคดีเรื่องนี้ท่านจะได้เห็นว่า การที่ต้องใช้ชีวิตในแต่ละวันโดยไม่รู้ว่าคุณจะถูกนำไปประหารหรือไม่นั้น มันส่งผลอย่างไรบ้างต่อสุขภาพจิตของมนุษย์คนหนึ่ง
ผมรู้สึกยินดีที่ท่านอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี ดร. น้ำแท้ มีบุญสล้าง ได้มาร่วมเสวนากับเราในวันนี้ด้วย ในฐานะที่ท่านเป็นบุคลากรคนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ท่านจะพูดถึงประเด็นท้าทายต่างๆ ที่ทำให้ระบบยุติธรรมทางอาญาไม่สามารถจะเป็นระบบที่สมบูรณ์แบบได้ตลอดเวลาอย่างที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น
โดยส่วนตัวนั้น ผมไม่สามารถจะเข้าใจหรือทำใจให้ยอมรับได้เลยว่า บ้านเมืองของเราจะมีกระบวนการทางกฎหมายที่นำไปสู่การปลิดชีวิตเพื่อนร่วมโลกคนหนึ่งคนใดของผม ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมของเรานั้นควรจะสะท้อนคุณค่าที่เราเชื่อถือยึดมั่น การพรากชีวิตมนุษย์นั้นไม่ควรจะเป็นหนึ่งในคุณค่าที่เรายึดถือ
เหตุผลประการสุดท้ายที่ผมขอยกขึ้นมากล่าวในวันนี้ก็คือเหตุผลทางศีลธรรมจรรยา ในบ้านเมืองของผม เด็กทุกคนถูกสอนมาตั้งแต่เล็กๆ ว่าการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ผิด นี่ทำให้ผมเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าไม่มีใครในโลกนี้ แม้กระทั่งรัฐ มีสิทธิที่จะตัดสินว่าผู้ใดสมควรอยู่ ผู้ใดสมควรตาย เราไม่ใช่พระเจ้า เราจึงไม่สมควรที่จะสวมบทบาทนั้น
ผมจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ท่านเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม พระเทพปริยัติมุนี กรุณามาร่วมแลกเปลี่ยนสนทนากับเราจากมุมมองของพุทธศาสนา
นอกจากนั้น เรายังได้คุณสัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล และคุณปิยะนุช โคตรสาร จากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รวมทั้งคุณดอน ลินเดอร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องเพชฌฆาต ซึ่งเป็นผู้เดียวที่มีโอกาสได้คลุกคลีอย่างใกล้ชิดกับบุคคลซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิงเป้านักโทษประหารคนสุดท้ายของไทย มาร่วมสนทนากับเราด้วย
ผมขอย้ำอีกครั้งว่า สหภาพยุโรปมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนซึ่งปลอดโทษประหารที่ใหญ่ที่สุดของโลก เราขอเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ มาเป็นแนวร่วมกับเราในการยกเลิกโทษประหารชีวิต หรืออย่างน้อยๆ ก็พักการใช้โทษประหาร หากยังไม่สามารถยกเลิกมันได้อย่างสิ้นเชิง
เรามิได้เรียกร้องเช่นนี้เพราะเราทะนงตนว่าเหนือกว่า แต่เป็นการเรียกร้องอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ นอกจากนั้น ทิศทางของโลกมันก็บอกเราด้วยว่าประชาคมโลกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเราในเรื่องนี้
ในปีพ.ศ. 2562 มีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว 142 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 2 ใน 3 ของโลก ส่วนประเทศที่ยังมีการประหารชีวิตอยู่นั้นก็มีแค่ 20 ประเทศ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับ 193 ประเทศและอาณาเขตที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติทั้งหมด
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังเป็น 20 ประเทศที่มากเกินไปอยู่ดี
ถ้าคุณออกมาเป็นแนวร่วมกับเราเพื่อยุติโทษประหารชีวิตในวันนี้ คุณก็จะเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกที่ดำเนินไปเพื่อเชิดชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และธำรงความยุติธรรมมากกว่าที่จะจองเวร
สำหรับผม นี่คือโลกที่ผมอยากเห็น และผมขอขอบคุณทุกท่านในที่นี้ที่มีความคิดเช่นเดียวกัน
หวังว่าท่านจะเพลิดเพลินกับภาพยนตร์และได้ประโยชน์จากการเสวนาในวันนี้ไม่มากก็น้อย
ขอบคุณครับ