ถาม - ตอบ: ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคว่ำบาตรองค์กรและบุคคลผู้มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกของสหภาพยุโรป
1. เหตุใดสหภาพยุโรปจึงออกระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคว่ำบาตรองค์กรและบุคคลผู้มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก?
การละเมิดหรือการกระทำผิดร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก และบ่อยครั้งที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับผลของการกระทำแต่อย่างใด สหภาพยุโรปไม่อาจจะเพิกเฉยต่อการละเมิดหรือการกระทำผิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้ การออกระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคว่ำบาตรองค์กรและบุคคลผู้มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า EU Global Human Rights Sanctions Regime (EUGHRSR) นั้น จึงถือเป็นความริเริ่มสำคัญเพื่อแสดงความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปในอันที่จะเสริมสร้างบทบาทของเราในการหยุดยั้งการละเมิดหรือการกระทำผิดร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
จุดประสงค์หลักของระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคว่ำบาตรองค์กรและบุคคลผู้มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ก็เพื่อให้การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปนั้น มีผลลัพธ์โดยตรงและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ล้วนเป็นองค์ประกอบหลักของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรา การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การทรมาน การค้าแรงงานทาส ความรุนแรงทางเพศและที่มีเหตุจากเพศสภาวะ การบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมถึงการค้ามนุษย์ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งซึ่งเราไม่อาจยอมรับได้ ด้วยเหตุนี้ การยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้จึงถือเป็นเป้าหมายสำคัญของสหภาพยุโรป
เรามีเครื่องมือหลายอย่างอยู่ในมือสำหรับตอบสนองต่อปัญหาการละเมิดหรือการกระทำผิดด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การเจรจาทางการเมืองกับประเทศคู่ค้าและพันธมิตร หรือความร่วมมือระดับพหุภาคี การคว่ำบาตรบุคคลหรือองค์กรนั้นก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้ได้
ในปัจจุบัน สหภาพยุโรปได้ขึ้นบัญชีบุคคลและหน่วยงานจำนวนกว่า 200 รายที่มีส่วนในการละเมิดหรือกระทำผิดต่อสิทธิมนุษยชนแล้ว โดยใช้มาตรการคว่ำบาตรที่มีอยู่เดิม (แต่การคว่ำบาตรในอดีตนั้น มักจะมีผลบังคับใช้เฉพาะกับพลเมืองของสหภาพยุโรปนอกพรมแดน และบุคคล ธุรกิจ หรือองค์กรที่ประกอบกิจการในเขตแดนของสหภาพยุโรป)
ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคว่ำบาตรองค์กรและบุคคลผู้มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกนี้ จะให้อำนาจสหภาพยุโรปในการลงโทษการละเมิดหรือกระทำผิดร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่จำกัดว่าการกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นที่ใด ต่างจากการคว่ำบาตรที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อตอบโต้ประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรก็หาใช่จุดสิ้นสุดไม่ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมมากขึ้นของสหภาพยุโรป และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยขับเคลือนแผนปฏิบัติการเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของสหภาพยุโรป ค.ศ. 2020 - 2024 (พ.ศ. 2563 – 2567) อันเป็นแผนงานที่กำหนดยุทธศาสตร์โดยรวมสำหรับการบรรลุเป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชนของเราในระยะเวลาห้าปีข้างหน้า
สหภาพยุโรปนำการคว่ำบาตรมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เราต้องการจะเห็น และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายที่เราต้องการจะเปลี่ยน โดยพุ่งเป้าไปที่วิธีการที่ถูกนำมาใช้ดำเนินนโยบายนั้นๆ รวมถึงผู้มีส่วนทำให้นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วย
2. ใครเป็นเป้าหมายของระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคว่ำบาตรองค์กรและบุคคลผู้มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกของสหภาพยุโรป?
ระเบียบข้อบังคับ EUGHRSR นี้มีผลต่อบุคคลหรือหน่วยงานทั่วโลกที่อยู่เบื้องหลังหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดหรือการกระทำผิดร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ อาจรวมไปถึงบุคคลหรือหน่วยงานที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดโดยตรงแต่ก็มีความสัมพันธ์กับบุคคลหรือหน่วยงานผู้ละเมิดหรือกระทำผิดต่อสิทธิมนุษยชนด้วย
ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของมาตรการนี้อาจเป็นได้ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยไม่คำนึงว่าจะอยู่ที่ใด และไม่ว่าการละเมิดหรือการกระทำผิดร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนนั้นจะเกิดขึ้นในประเทศของเขา ในประเทศอื่น หรือข้ามพรมแดน
การคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปนั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่เคยเพ่งเล็งไปที่พลเรือน ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคว่ำบาตรองค์กรและบุคคลผู้มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกของสหภาพยุโรปนี้ มีบทบัญญัติเฉพาะสำหรับการยกเว้นด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐสมาชิกสามารถอนุมัติการกระทำใดใดก็ตามที่ไม่อาจทำได้ในกรณีอื่น หากการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ด้านมนุษยธรรม (อ่านเพิ่มเติมในคำถามข้อที่ 6)
3. ระเบียบข้อบังคับ EUGHRSR นี้ครอบคลุมการกระทำใดบ้าง?
ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคว่ำบาตรองค์กรและบุคคลผู้มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกของสหภาพยุโรปนี้ จะใช้กับการละเมิดหรือการกระทำผิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยการกระทำดังกล่าวได้แก่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี การค้าแรงงานทาส วิสามัญฆาตกรรมและการสังหารอย่างรวบรัดหรือโดยพลการ การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการจับกุมหรือคุมขังโดยพลการ
นอกจากนี้ ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคว่ำบาตรฯ ของสหภาพยุโรปยังครอบคลุมถึงการกระทำอื่น ๆ ที่เป็นการละเมิดหรือการกระทำผิดที่แพร่หลาย เป็นระบบ หรือส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเป้าหมายด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงร่วมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 ของสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป การค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งกระทำโดยผู้ลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานข้ามชาติ ความรุนแรงทางเพศและมีเหตุจากเพศสภาพ การละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ การละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น และการละเมิดต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ
4. การลงโทษแบบใดที่อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับ EUGHRSR นี้?
ภายใต้ระเบียบข้อบังคับ EUGHRSR ผู้ที่ละเมิดหรือกระทำผิดร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนอาจถูก 1. ห้ามเดินทางเข้าสหภาพยุโรป 2. อายัดทรัพย์สิน 3. ห้ามรับสินทรัพย์หรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจใดใดจากพลเมืองของสหภาพยุโรป (เพิ่มเติม ในข้อที่ 5)
5. ระเบียบข้อบังคับ EUGHRSR นี้มีผลอย่างไรต่อพลเมืองยุโรปและผู้ประกอบธุรกิจในสหภาพยุโรป?
ระเบียบข้อบังคับ EUGHRSR จะช่วยส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นค่านิยมหลักของสหภาพยุโรป ด้วยการทำให้ผู้กระทำการละเมิดหรือทำผิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงนั้นได้รับความเสียหายจากการถูกจำกัดการเดินทางเข้าสหภาพยุโรปและถูกอายัดทรัพย์สินที่อยู่ในรัฐสมาชิก นอกจากนั้น ระเบียบข้อบังคับนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปมีพันธะผูกพันที่จะต้องยึดทรัพย์สินของผู้กระทำผิด และไม่สามารถให้การสนับสนุนเงินทุนหรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจอื่นๆ ให้แก่ผู้กระทำผิดได้
รัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปจะเป็นผู้นำมาตราการลงโทษต่างๆ ไปปฏิบัติ หากท่านมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ระเบียบข้อบังคับนี้ โปรดติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หากท่านประสงค์ที่จะค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับ EUGHRSR สามารถดูได้จากคำสั่งของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ (สหภาพยุโรป) ที่ 1998/2020
6. การลงโทษตามระเบียบข้อบังคับ EUGHRSR จะมีผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่?
บทลงโทษทั้งหมดของสหภาพยุโรปได้รับการออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนให้มากที่สุด ระเบียบข้อบังคับ EUGHRSR นี้จะใช้สำหรับลงโทษตัวบุคคลซึ่งกระทำผิดและถูกขึ้นบัญชีดำเท่านั้น (เช่น ห้ามเดินทางเข้าสหภาพยุโรป ถูกอายัดทรัพย์สิน และไม่สามารถรับถ่ายโอนสินทรัพย์หรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจใดใดได้) ทั้งนี้บทลงโทษดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการจัดหาปัจจัยสำหรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมไปถึงการช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ นอกจากนั้น การยกเว้นโดยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเป็นการเฉพาะก็สามารถทำได้ด้วย
ประการสำคัญ การลงโทษต่อผู้กระทำผิดดังกล่าวยังมีข้อยกเว้นตามมาตรฐานทั่วไป เช่น การยกเว้นเพื่อให้ผู้ถูกคว่ำบาตรมีปัจจัยเพียงพอที่จะซื้อสินค้าซึ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวันทั้งสำหรับตัวเองและสมาชิกในครอบครัวที่ต้องพึ่งพาผู้ถูกคว่ำบาตร รวมไปถึงการซื้ออาหาร ยารักษาโรคและการรักษาพยาบาลด้วย
นอกจากนี้แล้ว ระเบียบข้อบังคับ EUGHRSR ยังอนุญาตให้มีการยกเว้นเพื่อจุดประสงค์ด้านมนุษยธรรมเป็นการเฉพาะ การกระทำบางประเภทที่ระเบียบข้อบังคับนี้ห้ามไว้ อาจสามารถทำได้หากเจ้าหน้าผู้มีอำนาจในรัฐสมาชิกอนุญาตให้ทำ
การยกเว้นเพื่อจุดประสงค์ด้านมนุษยธรรมเป็นการเฉพาะเปิดโอกาสให้รัฐสมาชิกให้อำนาจแก่บุคคลหรือองค์กรใดใดก็ตามในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ถูกคว่ำบาตร ทำให้สามารถนำสินทรัพย์หรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ถูกยึดนั้นไปใช้ได้ในบางส่วน หรือสามารถจัดสรรความช่วยเหลือและทรัพยากรที่จำเป็นให้แก่ผู้ถูกคว่ำบาตรได้หากการทำเช่นนั้นเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ด้านมนุษยธรรม เช่น การส่งมอบหรือการอำนวยความสะดวกต่อการส่งมอบความช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร และการเคลื่อนย้ายหรืออพยพผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมรวมทั้งการขนถ่ายความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้อง
ท่านสามารถจะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับนี้ได้จากคำสั่งของคณะกรรมาธิการยุโรปเรื่องการดำเนินการตามเงื่อนไขของระเบียบข้อบังคับ (สหภาพยุโรป) ที่ 1998/2020
7. ใครบ้างที่มีอำนาจเสนอบทลงโทษภายใต้ระเบียบข้อบังคับนี้?
ตามมาตราที่ 5 ของมติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปว่าด้วยการคว่ำบาตรการละเมิดหรือการกระทำผิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคง และรัฐสมาชิกแห่งสหภาพยุโป มีอำนาจเสนอชื่อบุคคลหรือองค์กรให้พิจารณาขึ้นบัญชีดำได้ หลังจากนั้นคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจะเป็นผู้วินิจฉัยข้อเสนอดังกล่าว
ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษและเชิงอรรถที่ Questions and Answers: EU Global Human Rights Sanctions Regime