การเรียนในยุคโรคระบาด: เหตุใดการปิดโรงเรียนจึงควรเป็นทางเลือกสุดท้าย

05.02.2021

บทความโดย ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และ คาริน ฮัลชอฟ ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค

 

© Reuters

เมื่อครั้งที่ไกลาศ สัตยาธีขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2557 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มาลาลา ยูซาฟไซได้รับรางวัลสาขาเดียวกันนี้ เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ด้วยถ้อยคำอันทรงพลัง โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “เราต้องร่วมมือกันทำงานอย่างเร่งด่วน เพราะทุกๆ นาทีมีค่า และชีวิตของเด็กทุกคนมีความหมาย และวัยเด็กของพวกเขาล้วนมีความสำคัญ”

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่องของโควิด 19 ที่ทำให้เด็กหลายล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียนและเรียนหนังสือ สิ่งที่สัตยาธีกล่าวไว้จึงยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญว่าการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจะช่วยให้เราสามารถสร้างโลกที่มีสันติ เสมอภาค และยั่งยืน

การปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันการระบาดส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีเด็กไม่ต่ำกว่า 325 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบนี้

แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ได้ทยอยเปิดการเรียนการสอนอีกครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา แต่นั้นก็ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ  โดยเฉลี่ยเด็กต้องขาดเรียนเกือบทุกๆ สองวัน  ในประเทศฟิลิปปินส์ โรงเรียนถูกปิดตลอดทั้งปี 2563 ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียนตลอดทั้งปี  และที่อินโดนีเซีย เด็กนักเรียนเกือบทุกคนก็ต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกัน

ในการรับมือกับสถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเดือนนี้ โรงเรียนในมาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมาร์ และไทยต้องกลับมาปิดอีกครั้ง ทำให้การศึกษาของเด็กต้องหยุดชะงักหลังจากที่เพิ่งได้กลับมาเรียนในห้องเรียน

การประกาศปิดโรงเรียนในรอบใหม่นี้ ได้ชี้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล  มีเด็กราวๆ 80 ล้านคนที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์จากที่บ้านได้  การระบาดครั้งนี้ได้ทำให้ปัญหาการเรียนรู้เลวร้ายยิ่งขึ้น ก่อนวิกฤตโควิด 19 พบว่าสองในสามของเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 5 ในภูมิภาคนี้ไม่สามารถอ่านหรือคิดเลขได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้  ธนาคารโลกประเมินไว้ว่าจำนวนเด็กที่รู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ในช่วงปิดโรงเรียน

ยิ่งเด็กหยุดมาโรงเรียนนานเท่าใด ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะไม่กลับมาเรียนอีกเลย  ยูเนสโกได้ประมาณการไว้ว่าจะมีเด็กอย่างน้อย 2.7 ล้านคนในภูมิภาคนี้ที่ไม่กลับมาเรียนเมื่อโรงเรียนเปิดอีกครั้ง  ทั้งนี้ มีเด็กจำนวน 35 ล้านคนในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ออกจากระบบการศึกษาไปแล้วก่อนหน้านี้  การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนยิ่งทำให้เด็กต้องเสี่ยงเผชิญกับความรุนแรง การถูกล่วงละเมิด และการแสวงหาผลประโยชน์ เด็กผู้หญิงต้องเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการถูกบังคับให้แต่งงานและการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

เรายังมีโอกาสเอาชนะอุปสรรคในการให้การศึกษาแก่เด็กๆ ได้  แต่เราจะต้องร่วมกันทำงานหนักขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต่อระบบการศึกษาในภูมิภาคนี้

รัฐบาลในประเทศต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับการเปิดโรงเรียนเป็นอันดับแรก เพราะการเปิดโรงเรียนส่งผลดีกว่าการปิดหลายเท่านัก  ทั้งนี้ ยูนิเซฟและสหภาพยุโรปขอสนับสนุนให้รัฐบาลให้ความสำคัญ และจัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้กับครูพร้อมกับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและประชากรในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นกลุ่มแรก

เราต้องสานต่อสิ่งที่ได้ดำเนินการมาไปพร้อมๆ กับการหาแนวทางใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงการต้องเริ่มลงทุนในการศึกษาตั้งแต่ตอนนี้เพื่อให้เด็กในกลุ่มที่เปราะบางที่สุดสามารถกลับมาเรียนได้อีกครั้งและอยู่ในระบบการศึกษา  โรงเรียนต้องมีความปลอดภัย และครูต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการทางการศึกษาของเด็กๆ ได้  นอกจากนี้ เรายังต้องปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาใหม่เพื่อให้เด็กและเยาวชนเรียนจบไปพร้อมทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21

เมื่อเร็วๆ นี้ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าประทับใจ  รัฐบาลหลายแห่งได้จัดการศึกษาผ่านทางระบบออนไลน์ ทางโทรทัศน์ วิทยุ และโทรศัพท์มือถือ  ในติมอร์-เลสเต มีเด็กจำนวนมากขึ้นที่สามารถเข้าถึงการเรียนทางไกลผ่านระบบออนไลน์ วิดีโอ และวิทยุ เมื่อเทียบกับปี 2562  ในขณะที่ประเทศไทย เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและเสี่ยงต่อการต้องออกจากการเรียนได้รับเงินอุดหนุนเพื่อช่วยให้พวกเขายังอยู่ในระบบการศึกษา  รัฐบาลเวียดนามได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อลดความกดดันด้านวิชาการและภาวะความเครียดทางจิตสังคม  และเปิดโอกาสให้เด็กที่ขาดเรียน สามารถกลับมาเรียนต่อได้  รัฐบาลและพันธมิตรทั่วภูมิภาคนี้กำลังมองหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อสร้างทางเลือกทางการศึกษาที่เหมาะสมให้กับเด็กในวัยต่างๆ และพยายามพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น

ความพยายามที่จะฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนเริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว  ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบ่มเพาะความพยายามนี้ต่อไปอย่างไร  ถึงเวลาแล้วที่เราจะจินตนาการถึงระบบการศึกษาแบบใหม่ และนำนวัตกรรมท้องถิ่น ข้อเสนอแนะของชุมชน และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล ทะลายอุปสรรค และให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ทันสมัย ยืดหยุ่น และส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม

เหนือสิ่งอื่นใด การตัดงบประมาณด้านการศึกษาควรเป็นทางเลือกสุดท้าย ถึงแม้ทั้งโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ  ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาต้องอยู่ในแผนการฟื้นฟู  นอกจากเราไม่ควรนำงบสนับสนุนการศึกษาไปใช้อย่างอื่นแล้ว เรากลับยิ่งต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการศึกษา  เนื่องจากการศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนามนุษย์  สิ่งนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุนในความร่วมมือระหว่างประเทศของสหภาพยุโรป และจะส่งผลต่อเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นในอนาคต  เวลาที่เราพูดถึงการฟื้นฟูสิ่งต่างๆ ให้ดีกว่าเดิม เราต้องไม่ลืมเรื่องการศึกษา

นี่เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นอาจเพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตที่จะข้ามพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ด้วยการทำในสิ่งที่ต่างไปจากเดิม และได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ ด้วยระบบการศึกษาที่มีความยั่งยืนและครอบคลุม  ดังนั้น เราต้องนำบทเรียนที่ได้จากวิกฤตโควิด 19 นี้ มาเปลี่ยนโรงเรียนที่จะกลับมาเปิดอีกครั้ง ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่แท้จริง ที่มอบความรู้และทักษะที่จำเป็นให้กับเด็ก  ความคิดที่จะกลับไปใช้ระบบการเรียนแบบเก่า ที่ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนจะถือเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวง

หากเราจะบรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ เราต้องตระหนักว่าเราไม่สามารถทำอะไรแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป  ถ้าเราเรียนรู้บทเรียนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะสามารถจินตนาการและพัฒนาระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมสำหรับทั้งคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป