(For the English language version, please click here; สำหรับข่าวประชาสัมพันธ์ภาษาไทยในรูปแบบ PDF โปรดคลิก final_th_death_penalty_day_press_release.pdf)
“สหภาพยุโรปคัดค้านการใช้โทษประหารชีวิตในทุกกรณี เพราะการประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน นั่นก็คือสิทธิในการมีชีวิต” เอกอัครราชทูตเปียร์ก้า ตาปิโอลากล่าว “สำหรับประเทศที่ยังคงมีโทษประหารในกฎหมายอาญา เราขอสนับสนุนให้ประเทศดังกล่าวพิจารณายกเลิกบทลงโทษดังกล่าวเสีย ถ้าหากยังไม่สามารถยกเลิกโทษประหารได้โดยสิ้นเชิง เราก็หวังว่าประเทศเหล่านั้นจะเริ่มต้นด้วยการงดเว้นการตัดสินลงโทษประหารชีวิต รวมทั้งพักการประหารชีวิตนักโทษที่คดีถึงที่สุดแล้วไว้ก่อนด้วย”
สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในสมาชิกของประชาคมโลกที่คัดค้านการใช้โทษประหารอย่างหนักแน่นมาโดยตลอด ประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปทุกประเทศล้วนแล้วแต่ต้องปฏิบัติตามหลักการว่าด้วยการเคารพต่อสิทธิในการมีชีวิตและการห้ามใช้โทษประหารแม้ในช่วงสงคราม อันเป็นข้อผูกมัดภายใต้อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกฎหมายสำหรับปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเมืองประจำทวีป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา สหภาพยุโรป ซึ่งมีประชากรเกือบ 450 ล้านคนใน 27 ประเทศสมาชิกนั้น ได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดการใช้โทษประหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ การยุติโทษประหารชีวิตยังได้กลายมาเป็นข้อบังคับพื้นฐานในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อีกทั้งการรณรงค์เพื่อให้มีการยุติโทษประหารก็ยังเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปด้วย
“เราไม่ได้มีเจตนาที่จะสั่งสอนประเทศอื่นๆ หรือยกตนข่มผู้ใด เราเพียงอยากชี้ให้มิตรประเทศของเราเห็นว่า ทิศทางของโลกในเรื่องการยุติโทษประหารนั้นมันเป็นไปในลักษณะที่สอดคล้องกับความเชื่อของเรา” ท่านทูตตาปิโอลากล่าว
“ประเทศกว่าสองในสามของโลกได้ยกเลิกโทษประหารแล้วไม่ว่าจะเป็นในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ และประเทศที่มีการประหารชีวิตในปี พ.ศ. 2562 นั้นก็คิดเป็นสัดส่วนที่เล็กมากต่อจำนวนสมาชิกองค์การสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศ คือมีเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น” ท่านทูตกล่าวต่อ “ถ้าคุณเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารในอนาคตอันใกล้ คุณก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกในการยกย่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปกป้องสิทธิในการมีชีวิต สำหรับผม นั่นคือแนวทางที่ดีกว่าในการนำพาโลกของเราให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยมากขึ้น”
สหภาพยุโรปต่อต้านการใช้โทษประหารผ่านการรณรงค์และช่องทางทางการทูตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศพันธมิตรร่วมลงนามในพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ว่าด้วยการยกเลิกโทษประหารชีวิต) หรือการออกกฎหมายที่มีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกทุกประเทศมาห้ามการส่งออกสินค้าเพื่อการทรมานและเพื่อการประหารชีวิต เช่น ยากดประสาทที่ใช้สำหรับการฉีดยาเพื่อประหารนักโทษ และเพื่อขยายแนวร่วมในการงดขายสินค้าที่มีส่วนส่งเสริมการทรมานหรือการปลิดชีวิตมนุษย์ให้กว้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2560 สหภาพยุโรปยังได้ร่วมกับประเทศอาร์เจนตินาและมองโกเลียในการจัดตั้ง Alliance for Torture-Free Trade เพื่อให้เป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อต่อต้านการค้าที่ส่งเสริมการทรมานในระดับโลก นอกจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศแล้ว ยังมีประเทศอื่นๆ อีกกว่า 30 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตร อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และอุรุกวัย เป็นต้น
และในวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรป คณะผู้แทนสหภาพยุโรปทั่วทุกภาคพื้นของโลกก็จะจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจุดยืนของสหภาพยุโรปต่อโทษประหาร รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้มีการถกเถียงเกี่ยวกับความจำเป็นในการยุติโทษดังกล่าวโดยสันติและสร้างสรรค์
สำหรับในประเทศไทย คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ และ Documentary Club จะจัดให้มีการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ฮากามาดะ” ตามด้วยการเสวนาในหัวข้อ “โทษประหาร: ยุติธรรมหรือความผิดพลาด” ในวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ เวลา 13.30- 16.30 น.
“สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอียูที่จะสนับสนุนการถกเถียงในประเด็นที่เกี่ยวกับโทษประหารอย่างสร้างสรรค์” คุณวาเลรี มอร์ว็อง รองผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศสกล่าว “นอกจากการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘ฮากามาดะ’ ในวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรปแล้ว ในวันที่ 9 ตุลาคม สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ก็จะจัดให้มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘Apprentice (เพชฌฆาตก็ร้องไห้เป็น)’ ภาพยนตร์ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในระดับโลกซึ่งเป็นผลงานกำกับของ บู จุนเฟิง ผู้กำกับมากฝีมือชาวสิงคโปร์ โดยมีผู้อำนวยการสร้างและผู้เขียนบท เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล มาร่วมพูดคุยถามตอบกับผู้ชมอย่างใกล้ชิดอีกด้วย เนื้อหาหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการถกเถียงเรื่องโทษประหารได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการมองประเด็นผ่านมุมมองของเพชฌฆาต”
“คำถามว่า การประหารชีวิตยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมที่ควรถูกพูดถึงเช่นเดียวกัน” คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club กล่าว “สังคมที่พัฒนา คือ สังคมที่เปิดกว้างให้เราได้ถกเถียงในเรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้ด้วยเหตุผลหาใช่แค่การสาดอารมณ์เพียงอย่างเดียว”
“ฮากามาดะ” คือภาพยนตร์สารคดีความยาว 72 นาทีที่เล่าเรื่องราวการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของนักมวยชาวญี่ปุ่นนามว่า อิวาโอะ ฮากามาดะ ผู้ถูกตัดสินโทษประหารในปี พ.ศ. 2511 จากคดีฆาตกรรมสี่ศพที่เขาไม่ได้ก่อ
ในปี พ.ศ. 2557 การค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่โดยทนายจำเลยได้ส่งผลให้ศาลชั้นต้นของญี่ปุ่นสั่งให้ปล่อยตัวฮากามาดะ เนื่องจากศาลเห็นว่ากระบวนการพิจารณาคดีที่นำไปสู่การลงโทษประหารชีวิตเขาในอดีตนั้นมีข้อผิดพลาด ทำให้ฮากามาดะได้รับอิสรภาพหลังจากที่ถูกจองจำมานานกว่า 47 ปี และใช้ชีวิตกว่า 33 ปีในแดนประหาร (จนถึงวันนี้ ฮากามาดะก็ยังเป็นผู้ครองสถิติโลกในฐานะนักโทษที่ถูกจองจำในแดนประหารเป็นเวลายาวนานที่สุด)
เรื่องราวของฮากามาดะนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีอย่างหนึ่งต่อข้อถกเถียงที่ว่า การยุติโทษประหารจะช่วยป้องกันไม่ให้ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ต้องถูกทำลายในกรณีที่เกิดความผิดพลาดทางกระบวนการยุติธรรมขึ้น นอกจากนั้น สารคดีเรื่องนี้ยังจะแสดงให้ผู้ชมได้เห็นถึงความโหดร้ายไร้มนุษยธรรมของการประหาร เพราะบางครั้ง การประหารก็ไม่ได้ทำให้นักโทษเสียชีวิตอย่างฉับพลันทันใดและโดยปราศจากความเจ็บปวดอย่างที่ผู้สนับสนุนโทษประหารมักจะกล่าวอ้าง
หลังจาก “ฮากามาดะ” จบลงแล้ว การเสวนาภายใต้หัวข้อ “โทษประหาร: ยุติธรรมหรือความผิดพลาด” ก็จะนำประเด็นด้านจริยธรรม ศีลธรรมจรรยา และสิทธิมนุษยชนที่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้นำเสนอไปสนทนาต่อ โดยการเสวนาดังกล่าวจะท้าทายคำกล่าวอ้างที่ว่าโทษประหารนั้นสามารถยับยั้งการก่ออาชญากรรมที่รุนแรงได้ รวมทั้งค้นหาคำตอบว่ายังมีทางเลือกอื่นหรือไม่ที่จะสามารถป้องกันการก่ออาชญากรรมซ้ำๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าโทษประหาร
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมรับชมภาพยนตร์และฟังการเสวนาเนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรปนี้ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ทั้งที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ หรือทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ engage.eu ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของสหภาพยุโรปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสียงในฟิล์มของภาพยนตร์สารคดีนั้นจะเป็นเสียงในภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ โดยมีคำบรรยายทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนการดำเนินการเสวนาหลังจบภาพยนตร์นั้นจะเป็นในภาษาไทย พร้อม ๆ กับการแปลฉับพลันเป็นภาษาอังกฤษ
ติดต่อ:
สิริวัฒน์ โพธิ์กระเจน
ผู้ช่วยแผนกสื่อและข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
อีเมล์: Siriwat.POKRAJEN@ext.eeas.europa.eu
โทร: 02-305-2662