สหภาพยุโรปยินดีที่ได้เห็นการใช้โทษประหารชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะนั่นเปรียบเสมือนเครื่องหมายยืนยันว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้นเป็นทิศทางที่เป็นสากล โดยปีพ.ศ. 2562 ถือเป็นปีที่สองติดต่อกันที่มีการประหารชีวิตใน 20 ประเทศเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่ถึงกระนั้น 20 ประเทศยังถือเป็นจำนวนที่มากอยู่ เราจึงขอใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติทั้งหมดร่วมกันสนับสนุนมติเรื่องการพักใช้โทษประหารชีวิตในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 75 ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
องค์กรที่มีชื่อว่าพันธมิตรสากลเพื่อต่อต้านโทษประหารชีวิต (World Coalition Against the Death Penalty) ได้อุทิศปีนี้ให้เป็นปีสำหรับการปกป้องสิทธิที่จะมีตัวแทนทางกฎหมายที่มีประสิทธิผล เพราะการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานนี้สร้างความลำบากต่อประชากรที่เปราะบางที่สุดในสังคมที่ไม่สามารถหาทนายความที่มีประสบการณ์ หรือไม่คุ้นเคยกับกระบวนการทางกฎหมาย ดังนั้นในกระบวนการยุติธรรมจึงจำเป็นต้องจัดหาทรัพยากรให้แก่บุคคลเหล่านั้น เพื่อช่วยให้เขาได้มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจรวมถึงการเข้าถึงบริการล่ามและการแปลที่ถูกต้องแม่นยำด้วยในกรณีที่จำเป็น
เราไม่ปฏิเสธว่าอาชญากรจะต้องรับผิดและถูกลงโทษ ถึงกระนั้น ประสบการณ์จากประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตได้แสดงให้เห็นแล้วว่าโทษประหารชีวิตไม่ได้ลดความรุนแรงของอาชญากรรมลงหรือทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ในทางกลับกัน การลงโทษโดยการฆ่าเป็นการขยายวงจรความรุนแรงที่ไร้เหตุผล
เราขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกแห่งสภายุโรปที่ยังไม่ได้ร่วมลงนามในพิธีสารของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights) และพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิต รีบลงนามในพิธีสารทั้งสองโดยไม่ชักช้า
เนื่องจากเบลารุสเป็นประเทศในยุโรปเพียงประเทศเดียวที่ยังมีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ สภายุโรปและสหภาพยุโรปขอเรียกร้องอีกครั้งให้เบลารุสยกเลิกการใช้โทษดังกล่าว และมาเป็นแนวร่วมถาวรกับประเทศส่วนใหญ่ที่ได้ยกเลิกวิถีปฏิบัติอันโหดร้ายและไร้มนุษยธรรมนี้ นอกจากนี้ เรายังขอส่งเสียงไปถึงประเทศสังเกตการณ์ของสภายุโรปที่ยังไม่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ให้ร่วมกันสนับสนุนให้มีการถกเถียงกันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับอุปสรรคซึ่งขวางกั้นไม่ให้ประเทศเหล่านั้นยกเลิกโทษประหารชีวิตได้
เราหวังว่าคณะกรรมาธิการในระดับรัฐมนตรีของสภายุโรปจะพิจารณารับข้อเสนอว่าด้วยการห้ามการส่งออกสินค้าที่ใช้สำหรับการทรมาน และ/หรือการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงโทษประหารชีวิตด้วย นอกจากนั้นแล้ว เรายังสนับสนุนให้ทุกประเทศเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรในระดับโลกสำหรับการต่อต้านการค้าที่มีส่วนส่งเสริมการทรมาน ซึ่งมีชื่อว่า Global Alliance for Torture-Free Trade อันเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญของความร่วมมือระดับนานาชาติในการต่อต้านการทรมานและโทษประหารชีวิต และยกระดับความพยายามในการสร้างมาตรฐานสากลเพื่อต่อต้านการค้าที่ส่งเสริมการทรมาน